แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญา
สุสานช้าง : แหล่งเรียนรู้วงจรชีวิตช้างเอเชีย ในนิเวศวิทยาวัฒนธรรมลุ่มน้ำมูลตอนกลาง
เขียนโดย ดร.สุวัฒน์ อุ่นทานนท์ช้างนั้นเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จัดอยู่ในประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในเอเชียกลาง เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งกำเนิดของช้างเอเชีย (Elephas Maximus) สายพันธุ์ย่อยต่าง ๆ เช่น ช้างศรีลังกา (Elephant maximus maximus) ช้างอินเดีย (Elephant maximus Indicus) ช้างสุมาตรา (Elephant maximus sumatranus) และช้างแคระบอร์เนียว (Elephant maximus borneensis) ช้างเป็นสัตว์ที่ฉลาดและแสนรู้ มีความผูกพันกับการดำรงชีวิตของคนมาเป็นเวลานานตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ช้างมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคน ถือเป็นมรดกอันสูงค่ายิ่งที่แสดงออกให้เห็นทั้งทางพิธีกรรม ความผูกพันระหว่างคนกับช้าง ในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว
บริเวณสำนักสงฆ์ป่าอาเจียงในปัจจุบัน บ้านตากลาง-หนองบัว ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ (อยู่ห่างจากศูนย์คชศึกษาประมาณ 1.5 กิโลเมตร) เดิมเป็นป่าช้าสาธารณะประโยชน์ ใช้ฝังทั้งคนและช้างในหมู่บ้านใกล้เคียง ในอดีตบริเวณดังกล่าวช่วงตอนพลบค่ำเป็นบริเวณอาถรรพ์ที่คนทั่วไปไม่กล้าเดินผ่านในยามวิกาล ต่อมาในปี พ.ศ. 2505-2520 มีผู้คนเข้าไปถางป่าทำไร่ปอ มันสำปะหลัง บริเวณรอบป่าช้าและป่าภูดินทำให้พื้นที่ป่าลดลง ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 มีการอุปสมบทหมู่และได้ปักกลดแผ่เมตตาพระที่อุปสมบทใหม่ในป่าช้าแห่งนี้เป็นเวลา 10 วัน ในปี พ.ศ. 2536 มีพระสงฆ์ที่บวชใหม่มาจำพรรษาประมาณ 10 รูป หลวงพ่อหาญ ปญฺญาธโร (พระครูสมุห์คำหาญ ปญฺญาธโร) ได้พาออกไปปักกรดถือธุดงค์กัมมัฏฐานอธิฐานจิตอยู่ในป่าช้างเป็นเวลา 3 เดือน ได้เห็นนิมิตเห็นคนเพื่อขอความช่วยเหลือ หลังจากออกพรรษา มีการล้างป่าช้าอุทิศส่วนกุศล ในปี พ.ศ. 2538 หลวงพ่อหาญ ปญฺญาธโร ได้ออกไปปักกลดจำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2540 ได้เกิดแนวคิดใหม่ว่า ป่าช้าคือสถานที่ฝังศพที่คนทั่วไปเกลียดและกลัว จึงได้พัฒนาให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตคนกับช้างและพระพุทธศาสนาให้ครบวงจรในสถานที่เดียวกัน ในปี พ.ศ. 2548 จึงได้ประสานงานให้ชุมชนบ้านหนองบัวขออนุญาตสร้างวัดประจำหมู่บ้าน โดยอนุญาตใช้สถานที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูดิน สร้างให้เป็นวัดถูกต้องตามพระราชบัญญัติสงฆ์และกรมป่าไม้ต่อไป
สุสานช้างเห็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อช้างเสียชีวิตเจ้าของช้างจะนำเอากระดูกช้างมาฝังไว้ที่สุสานช้าง จากนั้นได้นำเอากระดูกช้างจากการฝัง มาทำเป็นหลุมสุสานช้างให้อยู่ในป่าหรือบริเวณเดียวกัน โดยเน้นมุ่งสอนให้คนได้เห็นคุณค่าของช้างและคิดตอบแทนบุญคุณของช้างที่มีบทบาทและความสำคัญผูกพันกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่พุทธกาล มีความสำคัญต่อประเทศชาติบ้านเมือง แม้เพียงน้อยนิดในบั้นปลายชีวิตขอให้ได้กลับมาอยู่แหล่งที่เคยอยู่ก็พอใจ หลังจากนั้นได้ไปปรึกษากับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัจฉรา ภาณุรัตน์ (อธิการบดีสถาบันราชภัฎสุรินทร์ในขณะนั้น) ท่านเห็นด้วยอย่างดียิ่ง หากทำได้ก็จะเป็นบุญกุศลของชุมชนและจังหวัดสุรินทร์ ตลอดทั้งประชาชนคนไทยทั่วประเทศ
ในการดำเนินการค่อย ๆ ทำมาเรื่อย ๆ ตามกำลังทรัพย์ที่บังสุกลมาได้ถึง 42 หลุม ลักษณะของหลุมเป็นสี่เหลี่ยม ติดกระจกด้านบน มองเห็นโครงกระดูกช้าง แต่ไม่ปลอดภัยถูกลักขโมยเป็นประจำ จึงได้ออกแบบใหม่ สวมหมวกใบตาลปิดมิดชิด ซึ่งได้ความหมายและความสำคัญในอดีตระหว่างคนกับช้าง เมื่อช้างเสียชีวิตอยู่ต่างจังหวัด เจ้าของช้างจะใช้รถบรรทุกนำช้างกลับมาฝังที่สุสานช้างแห่งนี้และทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ แต่ยังมีเจ้าของช้างบางกลุ่มเมื่อเห็นช้างล้มตายก็จะฝังทิ้งเสียในบริเวณนั้น โดยไม่สนใจใยดีแต่อย่างใด ในปัจจุบันมีโครงกระดูกช้างที่เก็บเข้าหลุมแล้ว 85 เชือก และรวมกับที่ฝังไว้ในดินด้วยมีจำนวนมากกว่า 100 เชือก รอบบริเวณโครงการจะดำเนินการเก็บโครงกระดูกช้างที่สมบูรณ์ต่อประกอบไว้อย่างน้อย 4-5 เชือก พร้อมทั้งภาพประวัติช้างแต่ละเชือก รูปปั้นบุคคลสำคัญ ที่ได้รับตำแหน่งหมอช้างสูงสุดไว้ใกล้กับศาลพระครูปะกำ เพื่อแสดงให้เห็นถึงมรดกอันล้ำค่า ภูมิปัญญาช้างของชาวกูยในอดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนปรับ ภูมิทัศน์ให้ดูสวยงามแบบธรรมชาติในระบบพึ่งพาและผูกพันระหว่างคนกับช้าง หมู่บ้าน วัด ศูนย์คชศึกษา โครงการคชอาณาจักรเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วงจรชีวิตของช้างต่อไป

"...สุสานช้างได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ ถมดิน ปลูกไม้ดอกไม้ประดับและหญ้า โดยโครงการคชอาณาจักร จ.สุรินทร์..."
(ภาพถ่าย : 13 เมษายน 2557)
สุสานช้างแห่งนี้เกิดจากแนวคิดของพระครูสมุห์หาญ ปญฺญาธโร เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ป่าอาเจียง และ รศ.ดร.อัจฉรา ภาณุรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ นายเสนีย์ จิตตเกษม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และนายอนันตพล บุญชู นายอำเภอท่าตูม (ในขณะนั้น) ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธา สนับสนุนส่งเสริมโครงการนำช้างคืนถิ่น
วันที่ 13 มีนาคม 2557 องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.) และโครงการคชอาณาจักรจังหวัดสุรินทร์ ได้เห็ฯความสำคัญของสุสานช้าง ได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยการถมดิน ปลูกหญ้า ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ...สุสานช้างจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวมหัศจรรย์ลุ่มน้ำมูลตอนกลาง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียน นักศึกษา ประชาชนชาวไทยและต่างประเทศสืบไป
ผู้เขียน : ดร.สุวัฒน์ อุ่นทานนท์ ปร.ด.(ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค)
ภาพถ่าย : ดร.สุวัฒน์ อุ่นทานนท์
อ้างอิง :
สุวัฒน์ อุ่นทานนท์. (2554). ภูมิปัญญาช้างบ้านในนิเวศวิทยาวัฒนธรรมพนมดงรัก-เซเปียน. สุรินทร์ : วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฏีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค กลุ่มวิชาเอกการศึกษาและจัดการภูมิปัญญา. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์.
วัดป่าอาเจียง. (2557). บอร์ดประชาสัมพันธ์สุสานช้าง. สุรินทร์ : วัดป่าอาเจียง บ้านตากลาง-หนองบัว ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์.
พระครูสมุห์คำหาญ ปญฺญาธโร. (2552). สัมภาษณ์. ผู้สัมภาษณ์ สุวัฒน์ อุ่นทานนท์ (เมษายน 24).