Menu


       ถ้ำเป็ดทอง อยู่ในเทือกเขาเตี้ยๆ บ้านหินโคนใหญ่ ตำบลโคกมะม่วง อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างเทือกเขา มีรอยหักน้ำไหลผ่านได้ บริเวณถ้ำมีรอยน้ำเซาะ เป็นซอกหินขาดเป็นตอนๆ รูปคล้ายเรือ  ลึกจากริมถนนบ้านโคกเขาถัดอนุสรณ์สถานเข้าไป จะเป็นที่ลาดต่ำลงไปถึงบริเวณที่ลุ่มกักน้ำไว้ใช้เรียก ฝายปะคำ ตรงขอบฝายปะคำด้านหนึ่งมีเนินสูงเหมือนหลังเต่า ตรงนี้มีโขดหินปูนทั้งที่เป็นเพิงผากับมีทั้งโพรงลึกเข้าไปเป็นถ้ำคูหา ชาวบ้านเลยเรียก ถ้ำเป็ดทอง เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ(South East Asia)ที่สำคัญแห่งหนึ่งในอีสานและสองฝั่งโขง เพราะมีจารึก 3 แห่งอยู่บนผนังถ้ำด้านนอก

       จารึกถ้ำเป็ดทอง ใช้อักษรปัลลวะของอินเดียใต้เป็นภาษาสันสฤต ทำขึ้นราวหลัง พ.ศ. 1100 (หรือพุทธศตวรรษที่ 12) โดยคำสั่งของเจ้าชายจิตรเสนที่ต่อไปจะเสวยราชย์เป็นกษัตริญ์กัมพูชาในพระนามมเหนทรวรมัน (บน) บริเวณลานหลังเต่าเหนือถ้ำเป็ดทอง ที่ชุมชนชาวบ้านร่วมกันปรับปรุงแล้วปั้นรูปจระเข้ไว้เพื่อแสดงว่าเคยมีอยู่ที่นี่ (ล่าง) บริเวณปากถ้ำเป็ดทองเป็นผนังหินมีช่องทางเข้า แต่มีน้ำอัดแน่นปิดทางเข้าจนไม่มีใครเข้าถ้ำได้อีกข้อความจารึกถ้ำเป็ดทองชุดแรกที่ผนังหินด้านนอกมี 1 บรรทัด มีผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญเอาหัวข้อที่อ่านได้ไปเทียบกับจารึกอื่นๆที่พบในกัมพูชาทำขึ้นยุคเดียวกัน แล้วอธิบายไว้ในหนังสือประชุมจารึกฯ มีความโดยสรุปว่าจารึกถ้ำเป็ดทอง ทำขึ้นโดยรับสั่งของเจ้าชายจิตรเสนแห่งรัฐเจนละ โดยในขณะนั้นยังมิได้ขึ้นครองราชย์(จึงน่าจะมีบ้านเมืองอยู่ทางลุ่มน้ำมูล-ชี บริเวณยโสธร-อุบลราชธานี) พระองค์ทรงขออนุญาตพระบิดาและพระมารดา สถาปนาศิวลึงค์ขึ้นด้วยศรัทธา

ภาพประกอบ :  Fanpage ตามรอยขอมวรมัน

       ตรงนี้แสดงว่า เจ้าชายจิตรเสนนับถือศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย บูชาศิวลึงค์ แล้วสร้างศึวลึงค์ไว้ในถ้ำเป็ดทองนี้?

       อาจารย์สุขุม เกตุใหม่ แห่งโรงเรียนบ้านโคกเขากับสหายและภิกษุ นำทางให้ผมเข้าไปถึงบริเวณฝายปะคำ ถ้ำเป็ดทอง แล้วขึ้นเนินสันหลังเต่าถึงโขดหินที่เคยมีถ้ำคูหาอยู่ข้างล่าง มีน้ำฝายอัดแน่นมองเห็นจากร่องหิน แสดงว่านับแต่สร้างฝายปะคำเสร็จแล้วมีน้ำล้น ก็ไม่มีใครเข้าถ้ำเป็ดทองได้อีก จารึกของเจ้าชาย จิตรเสนก็เป็นอันดูไม่ได้อีกต่อไป

 

ภาพประกอบ :  Fanpage ตามรอยขอมวรมัน

        ขอย้ำตรงนี้ว่าบริเวณถ้ำเป็ดทองเคยเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ต่อเนื่องถึงถ้ำวัวแดง(ที่ครบุรี นครรราชสีมา)เพราะดึกดำบรรพ์นานมาเป็นบริเวณเดียวกัน นับถือศาสนาพราหมณ์ไศวนิกายเหมือนกัน เป็นกลุ่มเดียวกันกับดินแดนยโสธร-อุบลราชธานี ที่น้ำมูล-ชี สบกันแล้วไหลลงแม่น้ำโขง

       สถาบันการศึกษาท้องถิ่นและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ควรสนับสนุนให้ปรับปรุงบริเวณหลังเต่าถ้ำเป็ดทองของฝายปะคำ เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางเลือก โดยจัดนิทรรศการย่อยๆไว้ประจำพื้นที่ตรงนี้ มีรูป-แผนผัง-แผนที่ และข้อความจารึกทั้ง 3 ชุด ซึ่งมีสั้นๆแล้วอธิบายเชื่อมโยงท้องถิ่นกับศูนย์กลางสำคัญที่นครวัด-พิมาย-พนมรุ้ง จนถึงรัฐเจนละที่จะเป็นอาณาจักรกัมพูชาต่อไป

 

ภาพประกอบ :  Fanpage ตามรอยขอมวรมัน
       

ทั้งหมดนี้คือความสัมพันธ์ทางการเมืองในวัฒนธรรมเครือญาติของภูมิภาคสุวรรณภูมิที่มีประเทศไทยเป็นแกนสำคัญแห่งหนึ่งรวมอยู่ด้วย  (สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2552ก)

 

ชื่อจารึก จารึกผนังถ้ำเป็ดทอง  (ดูข้อมูลภาษาอังกฤษ)
อักษรที่มีในจารึก ปัลลวะ
ศักราช พุทธศตวรรษ  ๑๒
ภาษา สันสกฤต
ด้าน/บรรทัด จำนวนด้าน ๑ ด้าน มี ๒ บรรทัด
วัตถุจารึก ศิลา
ลักษณะวัตถุ ผนังถ้ำด้านนอก
ขนาดวัตถุ บริเวณจารึกขุดหินผนังถ้ำให้เรียบเป็นหน้าสมุดลึกประมาณ ๕ มม. กว้าง ๓๐ ซม. ยาว ๘๐ ซม.
บัญชี/ทะเบียนวัตถุ ๑) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “บร. ๕”
๒) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ กำหนดเป็น “จารึกผนังถ้ำเป็ดทอง”
ปีที่พบจารึก ไม่ปรากฏหลักฐาน
สถานที่พบ ถ้ำเป็ดทอง ตำบลปะคำ อำเภอปะคำ (ข้อมูลเดิมคือ ตำบลประคำ อำเภอนางรอง) จังหวัดบุรีรัมย์
ผู้พบ ไม่ปรากฏหลักฐาน
ปัจจุบันอยู่ที่ ถ้ำเป็ดทอง ตำบลปะคำ อำเภอปะคำ (ข้อมูลเดิมคือ ตำบลประคำ อำเภอนางรอง) จังหวัดบุรีรัมย์
พิมพ์เผยแพร่ จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๙), ๑๕๓-๑๕๔.
ประวัติ ศิลาจารึกถ้ำเป็ดทอง เป็นจารึกที่ปรากฏอยู่บริเวณผนังถ้ำด้านนอกและด้านในของถ้ำ มีหลักฐานตามประวัติเดิมกล่าวไว้ว่า ถ้ำเป็ดทองนี้อยูในเทือกเขาเตี้ยๆ เขตอำเภอลำปลายมาศและอำเภอนางรองติดต่อกัน ระหว่างเทือกเขาในเขตลำปลายมาศ มีรอยหัก น้ำไหลผ่านได้ บริเวณถ้ำมีรอยน้ำเซาะ เป็นซอกหินขาดเป็นตอนๆ รูปคล้ายเรือโป๊ะบ้าง เรือกลไฟบ้าง บริเวณอักษรจารึกนั้น มีรอยขุดหินผนังถ้ำลึกประมาณ ๕ มม. ให้ผนังเรียบเป็นหน้าสมุด แล้วจึงจารึกตัวอักษร มีผู้เล่ากันว่า ภายในถ้ำนี้ แต่เดิมมีเสาหินค้ำเพดานถ้ำอยู่ด้วย แต่ปัจจุบันเสานั้นไม่มีแล้ว คงมีแต่หลุมเปล่า ปัจจุบันได้กำหนดให้ถ้ำเป็ดทองเป็นพื้นที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของบ้านหินโดนใหญ่ ตำบลประคำ อำเภอนางรอง (ข้อมูลปัจจุบันคือ ตำบลปะคำ อำเภอปะคำ) จังหวัดบุรีรัมย์ จารึกที่พบที่ถ้ำเป็ดทองนี้ จำแนกออกได้เป็น ๓ แห่ง คือ จารึกแห่งที่ ๑ อยู่ภายในถ้ำ โดยทางหอสมุดแห่งชาติกำหนดเรียกว่า “จารึกถ้ำเป็ดทองด้านใน บร. ๓” จารึกแห่งที่ ๒ อยู่บริเวณผนังถ้ำด้านนอก โดยทางหอสมุดแห่งชาติกำหนดเรียกว่า “จารึกถ้ำเป็ดทองด้านนอก บร. ๔” จารึกแห่งที่ ๓ ก็อยู่บริเวณผนังถ้ำด้านนอกเช่นเดียวกันกับจารึกแห่งที่ ๒ โดยทางหอสมุดแห่งชาติกำหนดเรียกว่า “จารึกผนังถ้ำเป็ดทอง บร. ๕” สำหรับ จารึกผนังถ้ำเป็ดทอง นี้ อักษรชำรุดและลบเลือนมาก ไม่สามารถอ่านได้ทั้งหมด เข้าใจว่าเป็นการประกาศเกียรติคุณของพระเจ้ามเหนทรวรมัน
เนื้อหาโดยสังเขป เป็นการประกาศเกียรติคุณของพระเจ้ามเหนทรวรมัน
ผู้สร้าง มเหนทรวรมัน?
การกำหนดอายุ กำหนดอายุตามรูปแบบของตัวอักษรปัลลวะ ได้อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ นอกจากนี้ รูปอักษรเหมือนกันกับศิลาจารึกวัดสุปัฏนาราม อันเป็นของพระเจ้ามเหนทรวรมัน
ข้อมูลอ้างอิง เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., ๒๕๔๖, จาก :
ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกผนังถ้ำเป็ดทอง,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๒๙), ๑๕๓-๑๕๔.

 

 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). (2545)

 

 ภาพประกอบ :  Fanpage ตามรอยขอมวรมัน

 

                                           จารึกถ้ำเป็ดทอง ด้านใน

คำจารึก

ภกฺตฺยา  ภควตศรฺณมุคตา  ปิตฺโร

คำแปล

มารดาและบิดาทั้งสองได้ถึงพระผู้เป็นเจ้าว่าเป็นที่พึ่งด้วยความภักดี

                                     จารึกถ้ำเป็ดทอง ด้านนอก

คำจารึก

  1. ปฺฤถวิ(ธ)  รสฺย  นฺฤปเตะ  ปฺฤถุกีรฺตฺติเก-----เสา------
  2. ---------------------ปฺฤถโนธิจรนฺ----------เนฺต  เสา--------------------------

    ปฺร---ตธาริ  ส  จิตฺรเสน

        ปฺป----------------------------

                                                     คำแปล

 

  1. พระเจ้าจิตรเสนพระองค์นั้น---------------------เกียรติอันยิ่งใหญ่ของพระราชาผู้ครองแผ่นดิน
  2. -------------------------------------------แผ่ไป--------------------------------------------------------
 

                                    จารึกผนัง(ด้านนอก)ถ้ำเป็ดทอง

คำจารึก

1. -----------------------------------------กีรฺตฺติ-----------------------------------------------จิตฺรเสน

2. ----------------------------------------------------------------------------------------------- 

คำแปล

1. -----------------------------------เกียรติ-------------------------------------------------พระเจ้าจิตรเสน

2. ------------------------------------------------------------------------------------------------ 

สุจิตต์ วงษ์เทศ (2552ข) 

                     จากหนังสือจารึกในประเทศไทย เล่ม 1 อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14. หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2529 หน้า 147-154)

 

ภาพประกอบ :  Fanpage ตามรอยขอมวรมัน

        ข้อความจาก Facebook  "...โดยถ้ำนั้นจะอยู่บริเวณร่องกลางซึ่งคล้ายๆกับแอ่งกะทะ บริเวณถ้ำซึ่งตั้งเป็นสำนักของฤาษีตนหนึ่ง นามว่า ปู่สิงห์ดง (อ็อตโต้) คอยจำศีลภาวนาอยู่เพียง ตนเดียว บริเวณโดยรอบเป็นทำฝาย ส่วนถ้ำนั้นดินปิดทับถมจนหมดเห็นแค่ลานหินโดยคาดว่าเป็นหลังคาถ้ำแห่งนี้ แต่ยังมี หลักฐานการจารึก ปัลวะขอม ปู่ฤาษีท่านจำศีลอยู่ ณ ที่นี้ มา7-8 ปีแล้ว ได้บอกว่า เมื่อก่อนสามารถเข้าไปได้ ถ้ำมีขนาดใหญ่มาก ส่วนในถ้ำจะมืดและเย็น มีทางเข้าออกหลายทาง มีหลักฐานที่อยู่ในถ้ำอยู่มากมายทั้งการจารึก เครื่องปั้นต่างๆ และอาวุธยุทโธปกรณ์ การจารึกเป็นการกล่าวถึงพระเจ้าจิตรเสน อาณาจักรเจนละ..."  (ตามรอยขอมชัยวรมัน.  2557)

 

 ภาพประกอบ :  Fanpage ตามรอยขอมวรมัน

ผู้รวบรวม :  ดร.สุวัฒน์  อุ่นทานนท์

ข้อมูลอ้างอิง :

      ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). (2545). ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก 
             http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=537.  สืบค้น 10 เมษายน 2557.
     สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2552ก). UNSEEN ถ้ำเป็ดทอง ที่อำเภอปะคำ บุรีรัมย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=389285. 
             สืบค้น 10 เมษายน 2557.
     สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2552ข).  ถ้ำเป็ดทอง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
               http://www.sujitwongthes.com/wp-content/uploads/2010/11/ต้นฉบับบุรีรัมย์_14พ.ย.53-p26-32 (2).doc/. สืบค้น 10 เมษายน 2557

      

 ภาพประกอบ :  Fanpage ตามรอยขอมวรมัน URL : https://www.facebook.com/SenThangKhxmSuRiywRman

 

 

 

 

Go to top


เจ้าของ : ชมรมครูไอซีที สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 4

ที่ตั้ง : ศููนย์บริการการศึกษา ถนนประชาจัดสรร ตำบลสตึก อำเภอสตึก จังุหวัดบุรีรัมย์ รหัสไปรษณีย์ 31150
Contact Us : Facebook @ictbr4clubโทร. 08-72548534 โทรสาร 0-4468-9056 อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เว็บมาสเตอร์ : Webmaster : ดร.สุวัฒน์ อุ่นทานนท์ : ทานิน จันทะขาล : ปรัชญา พลพุฒินันท์ Contact Us :  @ictbr4club

Owner : ICT Teacher Club, Buriram Primary Educational Service Area Office 4
Buriram Primary Educational Service Area Office 4, Basic Education Commission Office, Ministry of Education, Thailand
Location: One Stop Service,Prachajadsan Road, Satuk Sub-district, Satuk District, Buriram Province, Thailand, Postcode 31150
E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. Tel. 0-4468-9445 FAX. 0-4468-9050, Contact US :@ictbr4club
Copyright@2013 by ICT Teacher Club, All rights Reserved

 


“บุรีรัมย์สันติสุข บนความพอเพียง เพื่ออนาคตลูกหลานชาวบุรีรัมย์ ครอบครัวเดียวกัน สายเลือดเดียวกัน ลูกหลานรัชกาลที่ ๑”